วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

"ม.68" ฟางเส้นสุดท้าย ส.ส.-ส.ว.ชน"ศาลรธน."

คดีเขาพระวิหารที่ศาลโลกกำลังร้อนแรง อีกศาลในเมืองไทยที่เป็นที่กล่าวขวัญไม่แพ้กัน คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะหลังจากที่สั่งรับคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไว้พิจารณา ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง 

แล้ววันที่ 18 เมษายนที่่ผ่านมา ส.ว.และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกว่า 30 คน นำโดย นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะรองประธานวิปรัฐสภา นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมพรรครัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ออกมาผนึกกำลังร่วมกันแสดงจุดยืนแถลงไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ 

กรณีรับคำวินิจฉัยคำร้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั่นเอง 

แถลงการณ์ 5 ข้อ ประกาศจุดยืนของฝ่ายนิติบัญญัติว่า 1.ศาลรัฐธรรมนูญต้องผูกพันและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลและองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยการรับคำร้องให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญบทบัญญัติใดรองรับการ


กระทำไว้ 

2.กรณีที่ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จำเป็นต้องผ่านในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุดก่อน ตามมาตรา 68 วรรคสอง ส่วนการวินิจฉัยที่ออกมาหลังพิจารณาตามการเสนอของอัยการสูงสุดแล้ว ศาลมีอำนาจดำเนินการเพียง 2 กรณี คือ สั่งห้ามการกระทำและสั่งยุบพรรคการเมือง

3.การรับคำร้องของศาลตามมาตรา 68 ไม่ถือเป็นมาตรฐานที่ก่อให้เกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติตามได้ เพราะในการพิจารณาคำร้องไม่ได้เร่งรัดในห้วงเวลาที่เท่ากัน เช่น การชุมนุมของกลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่ระบุชัดเจนว่าจะแช่แข็งประเทศไทย ที่สรุปไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ทั้งที่เป็นการกระทำที่ขัดมาตรา 68 ชัดเจน 

4.กรณีที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล และ นายสุพจน์ ไข่มุกต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติรับคำร้อง ทั้งที่มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ถือเป็นการทำหน้าที่ที่ขัดหลักจริยธรรมตุลาการ และ 5.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรอบ ขั้นตอน และสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ในเรื่องนี้ นายดิเรกได้ขยายความให้ฟังว่า การออกแถลงการณ์โต้แย้งในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำได้ ไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะเป็นเพียงการโต้แย้งว่าศาลไม่ควรรับเรื่อง เนื่องจากอำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ปกติจะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน 

แต่การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเบรกและก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทำให้สมาชิกรัฐสภาเกิดความไม่สบายใจ 

อาจกลายเป็นปัญหาในการบริหารประเทศในอนาคตได้ 

คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า รัฐสภาจะได้ส่งข้อโต้แย้งและคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบต่อไป 

ความเห็นส่วนตัวมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่น่ารับคำร้อง เพราะไม่เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะเป็นการล้มล้างการปกครองตรงไหน 

การให้ประชาชนยื่นเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผ่านอัยการสูงสุดแต่เพียงหน่วยงานเดียว ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ต้องมาคลุมเครือว่าจะใช้ช่องทางใด ในอดีตศาลรัฐธรรมนูญก็เคยประกาศในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเองว่าให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดได้ 

ขณะที่ นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมพรรครัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้ความเห็นว่า การแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเพียงการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม การแสดงจุดยืนดังกล่าวไม่ถือเป็นการไปกดดันศาล เพราะถือเป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมาย

นายอำนวยระบุด้วยว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น ยืนยันว่าหากศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จำเป็นต้องผ่านในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการสูงสุดก่อน 

การที่กลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่ออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการตัดสินของศาลที่ผ่านมา เพียงไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจในมาตรา 68 เท่านั้น 

ปรากฏการณ์ดับเครื่องชนของสมาชิกสภาล่าง-สภาสูงในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

แต่ก็ต้องยอมรับว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ถูกจับตามาตลอด

การรับคำร้องคดีมาตรา 68 จึงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติบางส่วนหมดความอดทน

มาตรการต่อไปของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ก็คือ จะมีการเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ต่อไป ซึ่งหากผ่านขั้่นตอนต่างๆ ได้ สุดท้าย ต้องกลับไปศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี 

ทั้งหมดนี้ คือวงจรอันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ 2550 นั่นเอง

ข้อมูลจาก  มติชน